วันวิสาขบูชาปี 2553
ตรงกับวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2553
ซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6

        วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า
3 ประการ คือ
เป็นวันประสูติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าและปรินิพพาน

 

        ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึง
การบูชา
ในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชา
ย่อมาจาก "วิสา - ขบุรณมีบูชา" แปลว่า
"การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ"
ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน
ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7


        ความสำคัญ วันวิสาขบูชา
เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา
เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือ เกิด
ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ
เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราวคือ

1. ประสูติ
        เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ลุมพินีสถาน
เมื่อวันเพ็ญเดือน 6 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น15 ค่ำ ปีจอ
ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา
พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์
ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต
จากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ
ซึ่งเป็นพระนครเดิมของพระนาง
เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น
ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ
ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส
ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน
ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" ซึ่งต่อมาพระองค์
ได้ออกบวช จนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
(ญาณอันประเสริฐสูงสุด)
สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงถือว่าวันนี้เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า

2. ตรัสรู้
        เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ
ณ ร่มพระศรีมหาโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันเพ็ญเดือน 6
ก่อนพุทธศักราช 45 ปี
        การตรัสอริยสัจสี่ คือของจริงอันประเสริฐ 4 ประการ
ของพระพุทธเจ้า เป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน
วันตรัสของพระพุทธเจ้า จึงจัดเป็นวันสำคัญ
เพราะเป็นวันที่ให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกชาวพุทธทั่วไป
จึงเรียกวันวิสาขบูชาว่า วันพระพุทธ(เจ้า) อันมีประวัติว่า
พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป
ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น

ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้า
"ฌาน" เพื่อให้บรรลุ "ญาณ"
จนเวลาผ่านไปจนถึง ...

    * ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ"
คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น
    * ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ"
คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
    * ยามสาม : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ"
คือรู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจสี่ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค )
ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน 6

ซึ่งขณะนั้น พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา

        ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ (อริยสัจ 4 ) หรือ
ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่...

  1. ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
  2. สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
  3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และ
  4. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์

    ทั้ง 4 ข้อนี้ถือเป็นสัจธรรม เรียกว่า อริยสัจเพราะเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบ เป็นสัจธรรมชั้นสูง
    ประเสริฐกว่าสัจธรรมสามัญทั่วไป


3. ปรินิพพาน
        เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ณ ร่มไม้รัง (ต้นสาละ) คู่ ในสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือน 6ก่อนพุทธศักราช 1 ปี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป)

        การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
ก็ถือเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก
เพราะชาวพุทธทั่วโลกได้สูญเสียดวงประทีป ของโลก
เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และครั้งสำคัญชาวพุทธทั่วไป
มีความเศร้าสลด เสียใจและอาลัยสุดจะพรรณนา
อันมีประวัติว่าเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรม
มาเป็นเวลานานถึง 45 ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา
ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี
ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก

        ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖
พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย
ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ
ตามคำกราบทูลนิมนต์
พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย
ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา
ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
ในราตรีนั้น ได้มีปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อสุภัททะขอเข้าเฝ้า
และได้อุปสมบทเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้าย
เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น
พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลาย
ย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา
ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวง
อันเป็นประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่น
ให บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"

หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์